​ผลงานการออกแบบห้องชุดในสไตล์อินดัสเทรียลบนพื้นที่ 200 ตร.ม

Anuwat Anuwat
ออกแบบห้องชุด, Positive Monday Co.,Ltd. Positive Monday Co.,Ltd.
Loading admin actions …

การออกแบบและตกแต่งภายในนอกจากดีไซน์เพื่อตอบโจทย์แบบบ้านทั้งหลัง ยังครอบคุลมไปถึงห้องชุดที่มีเพียงพื้นที่ทำงาน ห้องประชุมหรือแบบคอนโดมิเนียม โดยแบบของห้องชุดนั้นส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่เหมือนกับบ้านทั่วไป แต่สิ่งที่แตกต่างคือสไตล์ เพราะห้องชุดจะเน้นในเรื่องดังกล่าวเพื่อชูความโดดเด่นของพื้นที่ที่จำกัดให้ดูคูล สร้างสรรค์และทันสมัย

และถ้าพูดถึงสไตล์ที่ไม่ใช่โมเดิร์นหรือร่วมสมัย เทรนด์ที่กำลังมาแรงคงต้องยกให้กับ สไตล์อินดัสเทรียล เพราะมีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนในเรื่องความดิบเท่ เรียบง่ายด้วยการโชว์เนื้อวัสดุ และแสดงออกถึงความคลาสลิกน่าสนใจด้วยโทนสีที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ ที่สำคัญตอกย้ำการไล่เททางวัฒนธรรมตะวันตกได้อย่างเด่นชัด

อย่างไรก็ตามการตกแต่งในแบบโกดังเก่าแบบนี้ ยังสะท้อนถึงรสนิยมการอยู่อาศัยที่ดูย้อนยุค วัสุดก่อสรางก็หาไม่ยาก ที่สำคัญรองรับและยืดหยุ่นต่อเฟอร์นิเจอร์ทุกชนิดที่จะนำมาเสริมสำหรับการตกแต่ง โดยมีนัยยะสำคัญที่ไม่ปิดกั้นเพราะสามารถใช้ได้กับทุกแบบของการออกแบบห้องชุด โดยเฉพาะห้องทำงาน

โดยในวันนี้ Homify พร้อมอาสานำพาทุกท่านเยี่ยมชมตัวอย่างการออกแบบห้องชุดในสไตล์อินดัสเทรียลจากสถาปนิกชาวไทย ซึ่งมีทั้งห้องทำงาน ห้องประชุมและโถงกลางเพื่อเป็นทั้งต้นแบบและแรงบันดาลใจในการปรับใช้ตลอดจนการว่าจ้างหรือติดต่อเพื่อการสร้างงานให้กับผู้ที่กำลังมองหาการตกแต่งภายในในสไตล์ดังกล่าว

​โถงกลาง

พื้นที่กลางบ้านที่ว่างเปล่าถูกดีไซน์ใหม่ให้ออกมาดูเท่ตามแบบสไตล์อินดัสเทรียล สังเกตได้ชัดจากลายเส้นของโครงเหล็กที่ถูกนำมาปรับใช้ในการวางโครงสร้างบันได ผนัง หน้าต่างและประตู ไม่เพียงเท่านั้นยังนำเอาวัสดุตกแต่งที่ทำมาจากธรรมชาติอย่าง ไม้ มาสอดแทรกลงไปได้อย่างนุ่มลึกทั้งผนังบริเวณเคาน์เตอร์ครัว พื้นจากมุมนั่งเล่นและเฟอร์นิเจอร์จำพวกเก้าอี้ทานข้าว นอกจากนี้ยังตัดด้วยโทนสีขาวอย่างมีเอกลักษณ์ในส่วนต่างๆ โดยเฉพาะผนัง เพดาน

ภาพรวมการตกแต่งมุ่งเน้นความโปร่ง โล่ง สบาย จากเพดานที่ยกสูงและผนังบานกระจกใส พื้นที่โถงกลางแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นแรกตกแต่งเป็นมุมนั่งเล่นมีโซฟาโทนสีน้ำตาลอ่อนมาตกแต่ง ใกล้ๆกันคือมุมทานข้าว ซึ่งกั้นด้วยผนังอิฐมอญ ด้านในเป็นมุมครัวและพื้นที่ใช้สอยต่างๆสำหรับห้องใต้บันได ชั้นที่สองเชื่อมโยงด้วยบันได มีบานประตูสำหรับเข้าห้องต่างๆต่อไป

หนึ่งมุมโถงกลางที่นำเอาโทนสีที่กลมกล่อมอย่าง ขาว เทา น้ำตาล และวัสดุอย่างหลากหลาย เช่น เหล็ก คอนกรีต อิฐ ไม้มาผสมผสานและตกแต่งภายในจนออกมาสวยงามได้อย่างดิบเท่และดูคลาสลิกตามสไตล์อินดัสเทรียลของนิวยอร์ก น่าอยู่อาศัย ทันสมัย ที่สำคัญส่องสว่างและดูปลอดโปร่ง

​มุมครัว

สำหรับมุมครัวหลังนี้เลือกใช้ความชอบของผู้อยู่อาศัยที่รักและหลงใหลในงานเซรามิกมาตกแต่ง โดยลวดลายของกระเบื้องนั้นเป็นลายโบราณสะท้อนถึงการย้อนยุคได้อย่างมีรสนิยม ซึ่งรูปแบบของวัสดุปูพื้นดังกล่าวไม่ได้ใช้แต่การปูพื้นแต่ยังตกแต่งตัวของเคาน์เตอร์ครัวที่จัดวางอย่างมีเอกภาพในพื้นที่กลางห้อง ด้านบนเพดานยังคงโชว์เนื้อวัสดุจากคานเหล็ก ผนังเลือกใช้งานอิฐมาเพิ่มลูกเล่น บริบทโดยรอบเพียบพร้อมไปด้วยโคมไฟ เก้าอี้ขายาวสำหรับนั่งทานอาหาร และชั้นวางของแบบเปิดโล่งที่ตกแต่งเป็นหิ้งพระด้านบนและจัดวางของสะสมชั้นต่างๆลดลันลงมา โดยชั้นดังกล่าวยังคงตอกย้ำความเป็นอินดัสเทรียลได้อย่างเด่นชัดเพราะทำมาจากไม้และโครงเหล็กสีดำ

สำหรับพื้นที่การปรุงอาหารดูกว้าง ปลอดโปร่ง มีการบิวท์อินผนังแบบเรียบง่ายเป็นชั้นวางและเชื่อมโยงกับประตูไปยังมุมห้องต่างๆได้อย่างคล่องตัว ซึ่งประตูนั้นก็ทำมาจากงานไม้ เช่นกัน

​พื้นที่ใต้บันได

อย่างที่กล่าวไว้เบื้องต้น การออกแบบห้องชุดหลังนี้บริเวณโถงกลางมีพื้นที่ว่างใต้บันได โดยสถาปนิกได้จัดการพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นมุมนั่งพักผ่อนหรือมุมทำงานด้วยการนำเอาชุดโต๊ะและเก้าอี้สำเร็จรูปขนาด 2-3 ที่นั่งมาจัดวาง  ซึ่งพื้นที่โดยรอบเปิดโล่ง อยู่ใกล้กับชั้นวางของ และมีโครงเหล็กโทนสีดำแบ่งกั้นอย่างมีสัดส่วนทำให้มุมดังกล่าวกลายเป็นห้องทำงานขนาดเล็กไปได้อย่างเหมาะสม หนึ่งตัวอย่างการออกแบบที่แสดงออกถึงการจัดการพื้นที่อย่างคุ้มค่าถือเป็นจุดเด่นการตกแต่งภายในในสไตล์อินดัสเทรียล

ทานข้าวก็ได้หรือประชุมก็ดี

ตัวอย่างการออกแบบห้องชุดหลังนี้เป็นห้องสี่เหลี่ยมที่กั้นออกมาจากโถงกลาง  โดยทำการดีไซน์อย่างมีสัดส่วนและแยกออกมาอย่างชัดเจน เนื่องจากผนังโดยรอบกั้นด้วยหน้าต่างและงานอิฐมอญ ไม่เพียงเท่านั้นผนังด้านในสุดมีการวาดลายเส้นวิวเมืองนิวยอร์กเพื่อสร้างสีสันเชิงศิลปะให้กับมุมห้อง สำหรับพื้นที่ตรงกลางจัดวางด้วยโต๊ะและเฟอร์นิเจอร์ซึ่งทำมาจากงานไม้ประมาณ 5-6 ที่นั่ง สามารถใช้สอยได้ทั้งทานข้าวเพราะอยู่ใกล้กับมุมครัว หรือจะจัดทำเป็นห้องรับรองก็ดูเหมาะสม ที่สำคัญเป็นห้องประชุมสำหรับบ้านแบบที่ตกแต่งเป็นโฮมออฟฟิสได้เช่นกัน

บริบทโดยรอบโดยเฉพาะพื้นปูด้วยแผ่นไม้ เพดานมีระบบไฟส่องสว่าง มีแอร์คอนดิชั่น พร้อมใช้สอยได้อย่างสะดวกสบายในทุกช่วงเวลา ที่สำคัญเพดานยังแฝงไปด้วยกลิ่นอายอินดัสเทรียลเพราะโชว์เนื้อวัสดุอย่างคานได้อย่างดิบเท่

​มุมนั่งเล่นแบบชั้นลอย

จากโถงกลางดังกล่าวก่อนขึ้นบันไดสู่ชั้นที่ 2 ได้ทำการต่อเติมชั้นลอยหรือยกระดับพื้นขึ้นมาอีกหนึ่งชั้นด้วยโครงสร้างคอนกรีตและตกแต่งด้วยกระเบื้องเซรามิกเพื่อจัดทำเป็นพื้นที่นั่งเล่นแบบชิวๆ ที่สามารถชมวิวทิวทัศน์ ทานขนมหรือดูหนังเรื่องโปรดได้อย่างเพลิดเพลิน สำหรับของตกแต่งในมุมดังกล่าวนั้นเพียบพร้อมไปด้วยชุดโซฟา เคาน์เตอร์ทีวีแบบลิ้นชัก โต๊ะกลางงานไม้ พรมและโคมไฟในแบบทันสมัยรูปทรงวงรี พื้นที่โดยรอบทั้ง 4 ด้านเปิดโล่งมีอากาศถ่ายเทเหมาะแก่การพักผ่อนรวมทั้งปรับเป็นมุมรับรองก็ดูเหมาะสมดี  เทคนิคการตกแต่งชั้นลอยแบบง่ายๆที่ดูเท่ในแบบอินดัสเทรียล

ห้องนอนและมุมอ่านหนังสือ

สำหรับห้องนอนหลังนี้ออกแบบในลักษณะเปิดโล่ง สังเกตุได้ชัดจากเพดานที่ยกสูง แต่ยังความดิบเท่ในการโชว์เนื้อวัสดุของฝ้าเพดาน ด้านภายในมีการบิวท์อินชุดตู้ขึ้นมาบริเวณหัวเตียงเพื่อจัดเก็บของ บริเวณพื้นที่ตรงกลางห้องสร้างสีสันด้วยกระเบื้องเซรามิกลายโบราณ ด้านข้างนอกจากผนังโทนสีเทาในแบบอินดัสเทรยีลแล้วยังเพิ่มกลิ่นอายความเป็นศิลปะด้วยการนำเอาภาพวาดมาจัดวางคู่กับหนังสือและมุมเล็กๆสำหรับนั่งเล่นที่ต่อเติมขึ้นมาอย่างเรียบง่ายจากการตอกไม้เสริมเข้าไป 1 แผ่น

ทั้งนี้พื้นที่ที่เหลือจากห้องนอน โดยเฉพาะบริเวณด้านข้าง ได้ตกแต่งเป็นมุมอ่านหนังสือ ซึ่งมีทั้งลิ้นชักเก็บของชุดโต๊ะที่บิวท์อินมาจากผนัง และด้านหลังมีตู้เสื้อผ้าไว้สำหรับจัดเก็บเครื่องนุ่งห่มให้เป็นระเบียบ  ถือเป็นหนึ่งมุมห้องนอนที่จัดการพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าและครอบคลุมการใช้งานที่สะดวกสบาย กว้างขวาง

มุมห้องน้ำ

สำหรับตัวอย่างการออกแบบมุมนี้เป็นพื้นที่ห้องน้ำ โดยยังคงไว้ในความเท่แบบอินดัสเทรียล สังเกตได้ชัดจากการตกแต่งผนังที่เลือกปูด้วยกระเบื้องลายโบราณ ส่วนของผนังเลือกตกแต่งด้วยกระเบื้องเช่นกันแต่เป้นลวดลายที่คล้ายอิฐมวลเบาโทนสีขาวซึ่งนอกจากความสวยงามสีดังกล่าวยังสะท้อนให้สัมผัสถึงความสะอาด สว่างและปลอดโปร่ง ห้องชุดดังกล่าวมีการแบ่งโซนแห้งและเปียกอย่างเหมาะสม โดยพื้นที่แห้งนั้นตกแต่งด้วยสุขภัณฑ์อ่างล้างหน้า เคาน์เตอร์ ชุดชั้นวางและกระจกเงา ส่วนพื้นที่เปียกคือมุมอาบน้ำ ปิดกั้นอย่างมิดชิดด้วยบานกระจกใส ภายในมีฝักบัวและระบบประปาที่ครบครัน ด้านบนเพดานมีระบบไฟฟ้าอย่างทั่วถึง ทำให้การใช้สอยมุมดังกล่าวดูปลอดภัยและสวยงาม

มุมห้องนอน

และสำหรับห้องชุดแบบสุดท้ายคือตัวอย่างการออกแบบห้องนอน แต่ห้องนอนหลังนี้ดูแปลกตาเพราะเป็นห้องนอนที่ดูเท่ในแบบอินดัสเทรียล สังเกตได้ชัดจากงานไม้บริเวณพื้น โต๊ะ รวมทั้งโครงเหล็กจากชั้นวางที่จัดเรียงอย่างเรียบง่ายชิดผนัง มีช่องใส่ขนาดใหญ่ที่สามารถจัดเก็บของได้อย่างเป็นระเบียบ สำหรับเตียงนอนเป็นแบบเตียงเดี่ยวขนาดกะทัดรัดสามารถเคลื่นย้ายหรือพับขึ้นเพื่อใช้สอยพื้นที่ต่างๆได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ด้านในสุดตกแต่งเป็นมุมอ่านหนังสือ ด้านผนังทางข้าวเปิดโล่งจากบานกระจกใสทำให้มุมห้องนอนหลังนี้ดูปลอดโปร่ง ด้านผนังอีกด้านตกตแงด้วยอิฐมอญและทาด้วยสีขาวให้อารมณ์และความรู้สึกที่นุ่มลึกในแบบธรรมชาติ ทำให้ภาพรวมมุมหลับนอนหลังนี้ดูลงตัว ไม่แข็งกระด้างจนเกินไป และสามารถใช้สอยพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าที่ไม่ได้มีไว้แค่หลับนอนอย่างเดียว ถือเป็นจุดเด่นที่บ้านยุคใหม่มักนำไปปรับใช้กัน

ตัวอย่างการตกแต่งห้องชุดไอเดียบุคนี้เป็นผลงานการออกแบบของ POSITIVE MONDAY CO.,LTD.หรือสถาปนิกภายใน กทม. ภาพรวมเลือกใช้สไตล์อินดัสเทรียลมาชูความโดดเด่นได้อย่างสวยงามบนกรอบพื้นฐานพื้นที่ใช้สอยประมาณ 200 ตร.ม ได้อย่างคุ้มค่าเพราะมีมุมห้องต่างๆอย่างครบครัน โดยเฉพาะมุมทำงาน

¿Necesitas ayuda con tu proyecto?
¡Contáctanos!

Destacados de nuestra revista